สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย เปิดอบรมตัดแต่งผลทุเรียนรุ่นแรกของภาคตะวันออกแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ซึ่งจะออกสู่ตลาดกลางเดือน เม.ย.นี้

สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย เปิดอบรมตัดแต่งผลทุเรียนรุ่นแรกของภาคตะวันออกแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ซึ่งจะออกสู่ตลาดกลางเดือน เม.ย.นี้ ส่วนภาครัฐห่วงเกษตรกรตัดทุเรียนอ่อนขาย กระทบส่งออกไปจีน หลังเวียดนามเป็นผู้ปลูกทุเรียนรายใหญ่ไล่หลังไทย

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่สวนแปลงปลูกทุเรียนต้นคู่เจ้จุ๋มของ น.ส.นวลนภา เจริญรวย บ้านเนินหย่อง ม.8 ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ได้จัดกิจกรรมอบรมตัดแต่งผลทุเรียนรุ่นแรกของภาคตะวันออกแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด จำนวน 200 ราย มีนายโอภาส กว้างมาก รักษาราชการเกษตรจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมฯ มีนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง ร่วมเป็นเกียรติฯ และมีนายวสันต์ รื่นรมย์ นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย นำสมาชิกสมาคมฯ ร่วมกิจกรรมฯ

ในงานมีการบรรยายให้ความรู้เรื่อง สรีระวิทยาของทุเรียนระยะต่างๆ การตัดแต่งผลทุเรียน การบำรุงรักษาผลทุเรียนให้ได้คุณภาพ แนวทางการส่งออกทุเรียน นิทรรศการองค์ความรู้ด้านการผลิตทุเรียน พร้อมทั้งกิจกรรมการสาธิตการตัดแต่งผลทุเรียนด้วย ซึ่งทุเรียรรุ่นแรกจะออกสู่ตลาดราวกลางเดือน เม.ย.นี้ ประมาณ 30 เปอร์เซ็น และรุ่นที่ 2 และ 3 จะออกสู่ตลาดห่างกันราว 25 วัน ซึ่งผลผลิตในปีนี้คาดว่าทุเรียนจังหวัดระยอง จะมีประมาณ 154,000 ตัน/ปี ซึ่งมีจำนนมากกว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาณ 142,000 ตัน/ปี
นายวสันต์ รื่นรมย์ นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพ สร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือให้กับทุเรียนภาคตะวันออก ให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีความตระหนักผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ


ด้านนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กล่าวว่า ภาครัฐยังมีความกังวลในตัวเกษตรกรชาวสวนทุเรียนบางรายที่ไม่รักษาคุณภาพของทุเรียนที่ต้องการราคาในช่วงต้นฤดูกาล ตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ซึ่งจะสร้างผลเสียให้ตลาดทุเรียนและภาพลักษณ์ของจังหวัด จึงอยากให้เกษตรกรได้ตระหนักในเรื่องนี้ให้มากๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้รักษาคุณภาพ หรือมาตรฐานทุเรียนของตนเองให้ดี โดยเฉพาะมาตรฐานค่าความหวานเปอร์เซ็นน้ำหนักแป้งในทุเรียนขั้นต่ำเดิมกำหนดไว้ที่ 32 เปอร์เซ็น สำหรับการส่งออกปีนี้ได้กำหนดเปอร์เซ็นแป้งไว้ที่ 35 เปอร์เซ็นขึ้นไป ก็จะมีการประชุมชี้แจงและรณรงค์ให้เกษตรกรได้ทราบ รวมทั้งการทำคิวอาร์โค้ดให้ทราบแหล่งที่มาของทุเรียนด้วย ซึ่งหากทำได้ทุเรียนอ่อนก็จะหมดไป และเชื่อว่าหากทำได้การส่งออกก็จะไปได้ ถึงแม้เวียดนามจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทยที่ขณะนี้เป็นผู้ปลูก หรือผู้ผลิตรายใหญ่ไล่หลังไทยในฤดูกาลผลิตที่จะออกสู่ตลาดที่จะถึงนี้ก็ตาม.

Related posts