สระบุรี/สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มอบสิ่งของพระราชทานแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในสุกร พื้นที่จังหวัดสระบุรี (ชมคลิป)

สระบุรี/สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มอบสิ่งของพระราชทานแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในสุกร พื้นที่จังหวัดสระบุรี

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=QRKFLrkx7V0[/embedyt]

วันที่ 21 ม.ค.65 เวลา 11.15 น .ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้นายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดสุกรในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร โดยมีนางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เข้ารับมอบสิ่งของพระราชทาน พร้อมปศุสัตว์อำเภอและตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน


ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงห่วงใยและติดตามสถานการณ์การเกิดโรคระบาดในสุกรซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก และยังคุกคามต่อวิถีการดำเนินชีวิต และการดำรงหาเลี้ยงชีพของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอีกจำนวนมาก โอกาสนี้องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทรงห่วงใยและตระหนักถึงความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดในสุกร จึงโปรดพระราชทานสิ่งของ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน จำนวน 200 ชุด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระในเบื้องต้น รวมถึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดสระบุรี ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้ได้มีพลังกายและพลังใจสามารถก้าวข้ามอุปสรรคในครั้งนี้ไปได้อย่างเข้มแข็งและปลอดภัย


สถานการณ์โรคระบาดสุกรในพื้นที่จังหวัดสระบุรี จากการสำรวจ ข้อมูลผู้เลี้ยงสุกรภายในจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 จังหวัดสระบุรีมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จำนวน 151 ราย จำนวนสุกร 91,123 ตัว ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานผล การพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ทั้งนี้ จังหวัดสระบุรี ได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด มีการดำเนินการตามแผนเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในสุกร ตามประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดจำนวน และลักษณะการป่วย หรือตายของสุกรหรือหมูป่า เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พ.ศ.2564
จากนั้นนายบัญชา เตชะสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้พบปะ พูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดสระบุรี


ทั้งนี้เกษตรกรชาวจังหวัดสระบุรีและ ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคสุกร ต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระเมตตาต่อเกษตรกรชาวจังหวัดสระบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคสุกร และทรงพระกรุณาพระราชทานสิ่งของให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

/ ดำรงค์ ชื่นจินดา รายงาน

Related posts