AIS อุ่นใจไซเบอร์ ตอกย้ำแนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” รู้ทันกลโกงแก๊งมิจฉาชีพในช่วงมหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ส่งท้ายปีเตือนคนไทย มีสติก่อนช้อป รอบคอบก่อนกรอกข้อมูล คิดให้ดีก่อนกดโอน

AIS อุ่นใจไซเบอร์ มุ่งตอกย้ำแนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” ตามภารกิจเพื่อนคู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทยทุกเจเนอเรชั่นในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลอันดับ 1 ของไทย ที่พร้อมผลักดันและส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการยกระดับสังคมการใช้งานดิจิทัลให้มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยการเสริมทักษะดิจิทัล ติดอาวุธทางความรู้ ให้มีสติก่อนช้อปปิ้งออนไลน์

มีความรอบคอบก่อนกรอกข้อมูล และคิดให้ดีก่อนกดโอนเงินในการซื้อสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงส่งท้ายปลายปีที่บรรดาร้านค้าออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส ต่างจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจกแถม ไล่ตั้งแต่ช่วงเทศกาล 12.12 ยิงยาวไปจนถึงช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ ทำให้มิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหลอกลวงเพื่อฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคกำลังมีความสุขเพลิดเพลินไปกับการช้อปปิ้ง ด้วยกลโกงต่างๆ มากมาย ทั้งเปิดร้านปลอมหลอกขายสินค้าโกงเงิน สินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา เซ็นรับสินค้าผิดกฎหมาย หรือแม้แต่กระทั่งการลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัวจนสูญเสียทรัพย์สิน
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS อธิบายว่า “วันนี้เรายังพบข้อมูลการถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ในทุกรูปแบบของผู้บริโภคที่สูงขึ้นในทุกปี เพราะมิจฉาชีพมีกลโกงที่นำมาใช้ในการหลอกลวงสารพัดรูปแบบ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคที่กำลังเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการจัดแคมเปญโปรโมชั่นช่วงส่งท้ายปลายปี อาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนที่รู้ไม่เท่าทันภัยไซเบอร์ หลงกลโกงจากมิจฉาชีพจนทำให้สูญเสียทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นการหลอกขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณา หลอกให้โอนเงินแล้วไม่ส่งสินค้าตามที่ตกลงไว้ หลอกให้เซ็นรับสินค้าผิดกฎหมาย หรือร้ายแรงไปจนถึงการหลอกเอาข้อมูลสำคัญเพื่อแฮ็กบัญชีทางการเงิน”

“ดังนั้น AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ที่วันนี้เรามีภารกิจที่มุ่งทำให้คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต และสื่อโซเชียลได้อย่างปลอดภัย เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการย้ำเตือนสังคม ในการสร้างความตระหนักรู้ไม่ให้คนไทยต้องตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงจากภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีสติในการซื้อสินค้าออนไลน์ อย่าหลงเชื่อโปรโมชั่นล่อใจจนลืมแหล่งที่มาของร้านค้า ตรวจเช็คความน่าเชื่อถือของร้านและแพลตฟอร์ม หากเป็นร้านเล็กๆ ให้ขอหลักฐานแสดงตัวตนของร้านค้าหรือลองค้นหาประวัติที่มาของร้านค้า มีความรอบคอบก่อนกรอกข้อมูลส่วนตัวที่มาความสำคัญ ทั้งเบอร์โทร ที่อยู่ บัญชีธนาคาร บัตรเครดิต เลือกวิธีชำระเงินที่ปลอดภัย และที่สำคัญคือต้องคิดให้รอบคอบก่อนกดโอนเงิน เพื่อสร้างความอุ่นใจให้คนไทยปลอดภัยจากทุกภัยไซเบอร์”

Related posts