ภัยเงียบของผู้สูงอายุ “ โรคกระดูกพรุน “

ภัยเงียบของผู้สูงอายุ “ โรคกระดูกพรุน “


จากวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันที่เจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้สามารถยืดอายุไขของมนุษย์ได้ยาวนานมากขึ้น ทำให้กลุ่มประชากรผู้สูงอายุของทั้งโลก มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 คาดการณ์ว่ามีประชากรสูงอายุ ประมาณ 12 ล้านคน และน่าจะมีผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน อยู่ประมาณ 3-4 ล้านคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น พบว่า ผู้ป่วยมากกว่า ร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ความสำคัญของ “ โรคกระดูกพรุน “
นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ กล่าวว่าโรคนี้เปรียบเหมือน ภัยเงียบ คือ “ เป็นโรค แต่ไม่รู้ตัว “ ไม่ค่อยแสดงอาการ กว่าจะรู้ บางทีก็เกิดกระดูกหักแล้ว หากเป็นกระดูกชิ้นเล็กหัก อาทิ เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกฝ่าเท้า ก็อาจจะไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตมาก


แต่หากเป็นกระดูกส่วนที่สำคัญ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก จะส่งผลให้เกิดภาวะทุพพลภาพมาก และผู้ป่วยบางท่าน อาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัด ( ซึ่งผู้สูงอายุ ย่อมมีความเสี่ยง ต่อภาวะแทรกซ้อนมากกกว่า คนหนุ่มสาว ) และ ผลการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ดีมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยของผู้ป่วย เป็นสำคัญ อาทิ เช่น โรคประจำตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการเรียนรู้กระบวนการกายภาพบำบัด ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ เป็นหัวใจสำค้ญในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน


ปกติกระดูกของคนเรา จะมีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกสูงสุด ในช่วงอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้น เมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นของกระดูกก็จะค่อยๆลดลง ตามวันเวลา ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงด้วย หากเปรียบเทียบกระดูกก็เหมือนโครงสร้างบ้าน เทียบได้กับ ปูนและเหล็กเส้น เมื่อเวลาผ่านไปเหล็กก็เสื่อมสภาพอาจเกิดสนิม เนื้อปูนก็อาจกะเทาะหลุดลอก ทำให้บ้านเสี่ยงต่อการทรุดตัวพังทลายลง กระดูกก็เช่นกันเมื่อเนื้อกระดูกลดน้อยลง ก็ทำให้มีโอกาสหักยุบ งอตัวได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยบางท่าน อาจไม่ได้ ทำงานอะไรหนักหรือรับอุบัติเหตุใดๆ แค่ก้มตัวบางทีกระดูกก็เกิดการยุบตัวได้เอง อันเป็นผลสืบเนื่อง จากโครงสร้างกระดูกที่เสื่อมสภาพ
อาการของโรคนี้ อาจตรวจพบ อาการบางอย่าง อาทิ เช่น


1.ความสูงที่ลดลง อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุ , กระดูกสันหลังโก่งโค้งงอมากขึ้น
( หลังค่อม )
2. ปวดตามข้อทั่วร่างกายเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกระดูกที่รับน้ำหนักร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง , กระดูกสะโพก
3. กระดูกหัก ซึ่งเป็น ภาวะแทรกซ้อนสุดท้ายแล้ว แปลว่า กระดูกพรุนมาก จนไม่แข็งแรงพอ ที่จะรับน้ำหนัก หรือทนต่อแรงกระแทกต่างๆ
ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยโรคนี้ จะวินิจฉัยเป็น 2 กลุ่ม
1. กลุ่มที่ ยังไม่เกิดภาวะกระดูกหัก ส่วนใหญ่ กลุ่มนี้ อาจได้รับการวินิจฉัย จากการตรวจสุขภาพ หรือ พบแพทย์เฉพาะทางมาก่อนครับ ทำให้ สามารถวินิจฉัย และ รักษาโรคนี้ได้ ตั้งแต่เนิ่นๆ
2. กลุ่มที่เกิดภาวะกระดูกหักแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มา โรงพยาบาลเพราะว่ามีภาวะกระดูกหักเกิดขึ้นแล้วครับ เป้าหมายการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ รักษากระดูกที่หัก และ ลดโอกาสการเกิดกระดูกหัก ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ในอนาคตครับ
ฉะนั้นความสำคัญของ การวินิจฉัยโรคนี้ คือ
“ ความใส่ใจ ตระหนักรู้ “ โรคกระดูกพรุน คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
ปัจจัยเสี่ยง โรคกระดูกพรุน มีอะไรบ้างครับ ?
ผู้สูงอายุ ทุกคนครับ โดยเฉพาะ ผู้หญิง ที่อายุ มากกว่า 65 ปี และ ผู้ชาย ที่อายุมากว่า 70 ปี
สตรี วัยหมดประจำเดือนทุกคน ทั้งที่ ประจำเดือนหมดเอง โดยธรรมชาติ และ สตรีที่ประจำเดือนหมดจากสาเหตุอื่นๆ หากใครยิ่ง หมดประจำเดือนมานาน ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นครับ
รูปร่าง ผอม ตัวเล็ก ( ค่าดัชนีมวลกาย BMI น้อยกว่า 18 )
ใช้ยา สเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน , สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าเป็นประจำ
เชื้อชาติ โดยเฉพาะคนไทย ซึ่งเป็นชาวเอเชีย ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงครับ
เคยมีประวัติ โรคกระดูกพรุน หรือ มีกระดูกสะโพกหัก ในครอบครัวมาก่อน
รับประทานอาหาร ไม่เพียงพอ ขาดแคลเซียม
[ Poor Nutrition ]
ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังที่มีการลงน้ำหนัก [ Weight –Bearing Exercise ]
เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ [ Rheumatoid Arthritis ] , โรคไต
การดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน
ทานอาหาร ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ และ เลือกทานอาหารที่มี แคลเซียมและวิตามินดี สูง อาทิ เช่น นม , โยเกิร์ต , ปลาตัวเล็ก , กุ้งแห้ง , ผักใบเขียว , พืชตระกูลถั่ว , เต้าหู้ , งาดำ เป็นต้น
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ๆ , รำไทเก็ก , รำกระบอง , เต้นลีลาศช้าๆ เป็นต้น
ดูแลรักษา โรคประจำตัว อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตัว อย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์
ปรับเปลี่ยนสภาวะ สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เพื่อ ลดโอกาสการหกล้ม เช่น เพิ่มหลอดไฟ ในจุดที่มีโอกาสหกล้ม , ปรับพื้นห้องน้ำ ให้ระดับเดียวกัน , เพิ่มราวจับ เพื่อช่วยทรงตัว ในจุดที่มีโอกาสหกล้ม เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัย ทางการแพทย์ การตรวจที่เป็น มาตรฐาน ในปัจจุบัน คือการตรวจ เอ็กซเรย์เพื่อหาความหนาแน่นของมวลกระดูกครับ หรือ เรียก ทางการแพทย์ว่า DEXA scan ( เด๊กซ์ซ่า สแกน ) โดยเป็นการตรวจโดยใช้ รังสีเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ เช่นกัน ( แต่ใช้ในปริมาณที่น้อยกว่ามาก และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ) ตรวจบริเวณ กระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก โดยการวินิจฉัย ว่า เป็น โรคกระดูกพรุน ค่าความหนาแน่นกระดูกที่ได้ ต้อง น้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.5 ( ลบ 2.5 ) ครับ ซึ่งแนะนำให้เริ่มทำการรักษา โดยใช้ยาสำหรับโรคกระดูกพรุน ได้ทันทีครับ
ซึ่งตามปกติ เครื่องตรวจความหนาแน่นกระดูกนี้ จะมีราคาแพง และ มีใช้ตาม โรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น ทาง องค์การอนามัยโลก [WHO] ได้เล็งเห็น ความสำคัญของโรคนี้ เป็นอย่างมาก จึงได้มีการพัฒนา เครื่องมือตรวจคัดกรองอีกรูปแบบนึง ที่ สามารถใช้ตรวจประเมินความเสี่ยง โอกาสที่จะเกิดกระดูกหัก ในอนาคต เรียกว่า FRAX Tool ซึ่งสามารถทำการ คำนวณ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งหมอขอไม่กล่าว รายละเอียดเชิงลึกนะครับ แต่เชื่อเหลือเกินว่า แพทย์เฉพาะทาง ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านของท่าน ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ สามารถใช้ FRAX Tool และ รักษาโรคกระดูกพรุน ได้อย่างแน่นอนครับ
อ่าน จบ แล้ว อย่าลืม กลับไปดูปัจจัยเสี่ยง และพาคนที่คุณรัก ไปตรวจหา โรคกระดูกพรุน จะได้ รักษาแต่เนิ่นๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดไปครับ
นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์
อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ )
โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
สามารถหาความรู้ทางโรคกระดูกและข้อได้เพิ่มเติมที่
www.thedoctorbone.com

นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Related posts