“พิชัย” จี้ “ประยุทธ์” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สามารถทำได้ทันที

“พิชัย” จี้ “ประยุทธ์” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สามารถทำได้ทันที ชี้ 4 โอกาสของไทย พลังงาน อาหาร ธุรกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมอนาคต แนะ ต้องปรับประเทศเพื่อรองรับอนาคต เลิกทำโอกาสเป็นวิกฤต ไม่ได้โหนชัชชาติ แต่อยากให้เห็นวิธีการทำงาน

 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็นลิตรละ 35 บาทซึ่งชนเพดานที่พลเอกประยุทธ์ บอกแล้วและกำลังจะขยายเป็นลิตรละ 38 บาท ในขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นถึง 8.6% สูงที่สุดในรอบ 41 ปี ซึ่งจะเร่งให้สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นน่าจะขึ้นถึง 0.75% ในอีกไม่กี่วันนี้ ในขณะที่เงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 7.1% ในเดือนพฤษภาคม ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปอีกจน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปีนี้เป็น 6.2% จากเดิม 4.9% และอาจจะจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้เช่นกัน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะพุ่งขึ้นถึง $150-160 ต่อบาเรล ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้นานแล้ว ปัญหาเงินเฟ้อสูงกำลังจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั้งโลกและจะสร้างความปั่นป่วนกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเตรียมตัวรับมือจากปัญหาเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก

ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทำท่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่ดีจะต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาและนำพาประเทศสู่การพัฒนาและการกินดีอยู่ดีของประชาชนในอนาคต ดังนั้นคณะทำงานงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยขอเสนอ แนวทางในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส 4 ด้านดังนี้

1. โอกาสทางด้านพลังงาน ในขณะที่ นำ้มัน ก๊าซ ไฟฟ้ามีราคาแพง และ จะยิ่งแพงขึ้น รัฐบาลควรจะต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามที่ได้เสนอไว้แล้ว ทั้งนี้ค่าการกลั่นเป็นอัตรามาตรฐานของสากลใช้กับโรงกลั่นทั่วโลก ที่เกิดจาก demand และ supply ของน้ำมันสำเร็จรูป และ อยากให้นาย กรณ์ จาติกวณิช ไปศึกษาให้ดีก่อนที่จะวิจารณ์ว่าเป็นการปล้น แต่ถึงแม้จะเป็นราคามาตรฐานสากลแต่ก็อาจจะลดลงได้ และและ เมื่อพูดถึงมาตรฐานสากล รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเรื่องราคาหน้าโรงกลั่นก็ต้องเป็นราคาสากลเช่นกัน อย่าให้บริษัทพลังงานเอาเปรียบประชาชนในทุกด้านแบบเอาแต่ได้ แต่ที่สำคัญและอยากเรียกร้องคือการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ที่มีแหล่งพลังงานจำนวนมาก และสามารถนำขึ้นมาใช้และบริการให้กับประชาชนในราคาที่ถูกลง อีกทั้งจะสามารถทำเงินเป็นรายได้เข้ารัฐ ปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำสวัสดิการให้กับประชาชนได้ เท่ากับทำเรื่องเดียว แต่ได้แก้ปัญหาสองด้าน แนวทางการเสนอการทำสวัสดิการปัจจุบันจะต้องหาแหล่งที่มาของรายได้ก่อน อย่าเพียงแต่ฝันว่าจะแจกโดยไม่มีเงิน นอกจากนี้โอกาสทางพลังงานยังหมายถึงการปรับโครงสร้างการใข้พลังงานในอนาคตของประเทศไทย การใช้พลังงานที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นทิศทางของโลก การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ที่ยุโรปประกาศจะจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ EV ในปี 2035 และเลิกจำหน่ายรถยนต์น้ำมันทั้งหมด ซึ่งไทยคงต้องปรับเปลี่ยนทิศทางตามแนวทางโลก อีกทั้งต้องคิดวางแผนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) สำหรับอนาคต และ ต้องออกมาตรการการช่วยเหลือประชาชนในภาวะพลังงานแพงนี้


2. โอกาสทางด้านอาหาร ในภาวะที่โลกขาดแคลนอาหาร ประเทศไทยผู้ผลิตอาหารควรจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถผลิตและขายอาหารที่โลกต้องการเพื่อไปจำหน่ายทั่วโลกในราคาที่สูงเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยประเทศไทยต้องนำระบบ Ai เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อตรวจสอบภูมิอากาศและความชื้น คุณภาพของดิน เพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต รวมถึงการใช้ระบบ Automation เช่น โดรน และ อุปกรณ์การเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน
3. โอกาสทางธุรกิจดิจิทัล ที่ไทยต้องปรับระบบราชการเป็นระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ และ กำจัดการคอรัปชั่น การปรับระบบดิจิทัล(Digital Transformation) ทั้งภาคราชการ และ ภาคเอกชน พร้อมทั้งสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจดิจิทัลขนาดใหญ่จำนานมาก และสร้างมูลค่าธุรกิจและมูลค่าของประเทศ เพิ่มการจ้างงานที่มีรายได้สูงในอนาคต ซึ่งเป็นทิศทางอนาคตของโลก
4. โอกาสทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยต้องคำนึงว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมที่จำเป็นเหมือนเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของโลก คือ อุตสาหกรรมผลิตไมโครชิพ (Microchip) และ อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างมากทั่วโลก ราคาได้พุ่งสูง เพราะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และโดรน จำเป็นต้องใข้อุปกรณ์เหล่านี้ ประเทศไทยจะต้องหาบริษัทต่างประเทศมาร่วมลงทุนผลิตไมโครชิพและแบตเตอรี่นี้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างธุรกิจต่อเนื่อง ทำให้เกิด Supply Chain ครบงวงจรภายในประเทศนี้ให้ได้ เพื่อจะนำไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ต่อเนื่องในอนาคต

การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสยังมีอีกมากหากรัฐบาลมีความคิดและฉลาดพอ โดยอยากให้เริ่มต้นใน 4 เรื่องนี้ เพื่อเป็นจุดหักเห (Turning point) สำคัญของประเทศไทย ซึ่งหากทำได้ประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปได้อีกมาก แต่ถ้าประเทศไทยยังบริหารอย่างที่เป็นอยู่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตลอด 8 ปีที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ ทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤตมาตลอด ทั้งนี้เพราะ ตลอดหลายปีก่อนวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด เศรษฐกิจโลกดีแต่ไทยกลับขยายตัวต่ำมาก อีกทั้งราคาน้ำมันตลอดหลายปีราคาถูกมากแต่ไทยกลับไม่ได้ประโยชน์เลย พอมาถึงปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และ ราคาน้ำมันแพงและยังจะพุ่งขึ้นอีกพลเอกประยุทธ์ จะรับมือได้อย่างไร ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วหลายปี ซึ่งหากยังจะดื้อรั้นและคิดว่าตนเองทำได้ และทำดีแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวอย่างแน่นอน ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้โหน อดีต. รมว. ชัชชาติ แต่อยากให้ดูถึงวิธีการทำงานที่รู้ปัญหาจริง มีทางแก้ไขและทำได้จริง เข้าถึงพื้นที่ สุภาพไม่ก้าวร้าว ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของพรรคเพื่อไทยที่นำเสนอปัญหาและทางแก้มาตลอด ซึ่งต่างจากผู้นำปัจจุบันราวฟ้ากับเหว ซึ่งการที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มออกมาเดินขบวนขับไล่พลเอกประยุทธ์ อีกครั้งก็น่าจะเพราะทนความล้มเหลวกันไม่ไหวแล้ว


——————–
“เพื่อไทย” เชื่อ “เศรษฐกิจดิจิทัล” คือโอกาสสำคัญของประเทศ แต่รัฐบาลต้องส่งเสริมและเลิกเป็นตัวถ่วง

นาย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเลย เขต 2 และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าแม้กระแสเศรษฐกิจดิจิทัล จะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในปี 2565 แต่ยังมีโอกาสอีกมากมายที่ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมและสร้างผลประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ โดยในปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ประชาชนมีการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆได้อย่างดี เห็นได้จากช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ประชาชนไทยสามารถปรับตัวกับกระแสของโลก พัฒนาการให้บริการและเดินเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวชี้วัดและการศึกษาจากต่างประเทศก็ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ถึงแม้จะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ พรรคเพื่อไทยได้เล็งเห็นและเชื่อว่า โอกาสด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยยังคงเปิดกว้าง แต่หากรัฐบาลยังปล่อยให้ภาคเอกชนต่อสู้และหาโอกาสอยู่ฝ่ายเดียว จะเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสที่สำคัญ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน

ในขณะนี้กำลังมีการพิจารณา ร่าง พรบ งบปี 66 ซึ่งผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายในสภาถึงความไม่เหมาะสมของการจัดทำงบประมาณ ซึ่งคือความสิ้นหวังของประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษี การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการพัฒนา แสดงจากการจัดงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย ยังคงได้งบประมาณไม่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับหน้าที่และความสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบราชการ หรือ Digital Transformation ของหน่วยงานภาครัฐ ถึงแม้จะไม่ใช่การสนับสนุนโดยตรงต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย แต่การพัฒนาระบบราชการจะสร้างโอกาสให้ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษกิจดิจิทัล ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนและลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นที่เกิดขึ้นในระบบราชการได้อยากมาก เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลไม่เคยพยายามพัฒนาอย่างจริงจัง แม้ในปัจจุบันจะมีความพยายามปรับปรุง แต่ยังห่างไกลจากเป้าหมายอีกมาก

หากรัฐบาลสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงระบบราชการที่ล่าช้าได้สำเร็จ ภาคเอกชนของไทยจะสามารถถือธงนำประเทศเข้าหาโอกาสในโลกดิจิทัลได้ดีกว่านี้อีกมาก เนื่องจากโลกดิจิทัลยังคงมีสิ่งใหม่และโอกาสใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีต่างๆ หรือช่องทางใหม่ๆในการสื่อสาร การเปิดพื้นที่ในโลกเสมือนจริง หรือกระแส metaverse ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศตั้งเป้าหมายถึงการเป็นผู้เล่นหลักในพื้นที่ใหม่เหล่านี้ ความสามารถของประเทศไทยเองนั้น ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น เรามีประชาชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาและประสบความสำเร็จในโลกใหม่นี้ แต่เราจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาล ผู้บริหารประเทศมีวิสัยทัศน์ที่กว้างพอจะมองโลกและนำประเทศไทยเข้าหาโอกาสเหล่านั้น
——————
อนุสรณ์ ชี้ รัฐบาลล้มเหลวแก้วิกฤตเศษฐกิจ จับตรงไหนมีแต่ปัญหา

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้ารัฐบาลมา 8 ปี ผ่านงบฯไป 12 ครั้ง ใช้เงินไป 28.5 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจทรุด ทุจริตฟู กู้เก่ง ทำคนไทยเสียโอกาส พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัว-สอยนั่งร้านประยุทธ์” ทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศ 8 ปี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำหนี้สาธารณะเฉียด 10 ล้านล้านบาท ประชาชนรู้ดี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมานแผลเศรษฐกิจ หรือสร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาเงินเฟ้อ นำมันแพง ค่าแรงถูก คนตกงาน คนจนเพิ่ม ทำประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับหลายประเทศ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ หมดสภาพที่จะมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจ มีเพียงมาตรการลูบหน้าปะจมูกครึ่งๆ กลางๆขอไปที เพื่อให้ตัวเองและเครือข่ายสืบทอดอำนาจไปเรื่อยๆ รัฐบาลล้มเหลวซ้ำซากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนสิ้นหวังกับรัฐบาลที่มองไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นทางออกจากปัญหา จับตรงไหนก็มีแต่ปัญหา เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้จะสร้างแนวร่วมทั้งในสภา-นอกสภาสร้างศรัทธาจากภาคประชาชนได้มาก

“พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ไม่อยู่จนตายคารัง แต่ถ้าคิดจะสืบทอดอำนาจโดยไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้เลย คนที่ลำบากคือประชาชน” นายอนุสรณ์ กล่าว

Related posts