กระบี่-เกษตรจังหวัดกระบี่ส่งเสริมเกษตรกรปลูกองุ่นเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจ (ชมคลิป)

กระบี่-เกษตรจังหวัดกระบี่ส่งเสริมเกษตรกรปลูกองุ่นเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจ

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=yrH-pxtrXBk[/embedyt]

2 ก.พ.65 นายชำนาญ นุ่นดำ เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงการส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกองุ่นว่า องุ่นเป็นพืชทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดกระบี่ บางคนยังไม่รู้จักองุ่นดีพอ ส่วนใหญ่เคยทานแต่องุ่นในตลาด แต่วิธีการปลูกยังไม่รู้จัก สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ จึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรปลูกเพื่อเป็นพืชทางเลือก ซึ่งในพื้นที่อำเภอคลองท่อม ก็เป็นรายแรกที่มีการปลูกชื่อไร่องุ่นอดิศร กระบี่ ของนายอดิศร แดงร่า ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยลึก ม.1 ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ปลูกจำนวน 1 ไร่ ปลูกได้ 135 ต้น มี 10 สายพันธุ์ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่เล็งเห็นแล้วว่าองุ่นนอกเหนือจากมีรายได้จากการให้ผลผลิตแล้ว

ยังมีรายได้ในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน แหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรของตนเอง เกิดการเชื่อมโยง สร้างรายได้ในชุมชน ยกตัวอย่างเช่นในมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวสวนองุ่นก็มีการซื้อของ จับจ่ายสินค้าที่ระลึกของชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เกิดขึ้น นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นรายอื่นโดยเฉพาะที่แปลงนี้มีอยู่จำนวน 10 สายพันธุ์ก็จะได้ศึกษาต่อไปว่ามีสายพันธุ์ไหนบ้างที่เหมาะสมกับพื้นที่ สายพันธุ์ไหนบ้างที่ให้ผลผลิตออกมาดีมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ก็จะเข้ามาส่งเสริมในเรื่องขององค์ความรู้ การศึกษาดูงานในแปลงต้นแบบเพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ส่วนผู้ที่สนใจก็จะอำนวยความสะดวกในเรื่องของการศึกษาดูงานจากแปลงต้นแบบและการให้คำปรึกษาทั่วไป


นายอดิศร แดงร่า อายุ 35 ปี เจ้าของสวนองุ่นกล่าวถึงแนวคิดในการปลูกองุ่นว่าสาเหตุที่ได้ปลูกก็เนื่องมาจากสถานการณ์โรค covid – 19 โดยเมื่อก่อนได้ประกอบอาชีพธุรกิจท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต มีภาวะว่างงานอยู่นานจึงเดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ไปเที่ยวที่สวนองุ่นพร้อมกับซื้อต้นองุ่นมาปลูกจำนวน 3 ต้น ปรากฏว่าปลูกแล้วได้ผลดี ออกลูกสวยงาม ทำให้ตนเองเกิดความชอบและมีความสุขกับการปลูกองุ่น จึงได้เริ่มทดลองปลูกในเนื้อที่ปลูก 1 ไร่ มี 10 สายพันธุ์ ต้นทุนในการผลิตต่อโรงเรือน 1 ไร่ ประมาณประมาณ 2 แสนบาท ใช้เวลาในการปลูกประมาณ 1 ปี 6 เดือน ก็เริ่มให้ผลผลิต การปลูกก็จะไม่ใช้สารเคมี ใช้มูลวัวในพื้นที่มาใส่ผสมกับดิน เป็นที่สนใจของชาวบ้านในชุมชนมีการตอบรับเป็นอย่างดี

ขณะนี้จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ในส่วนของตลาดยังไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้ามาท่องเที่ยว เข้ามาเชคอิน เข้ามาถ่ายรูป ต่างชื่นชมว่ามีความสวยงาม แปลกตา สำหรับสายพันธุ์ที่นำมาปลูกได้แก่พันธุ์แบล็คโอปอล ไวท์มะละกา และก็สายพันธุ์อื่นๆ ในอนาคตคาดว่าต้องขยายพื้นที่ปลูกออกไป เพราะมีการตอบรับเป็นอย่างดี ในส่วนของผู้ที่เข้าชมโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบหรือคนชราตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นก็ให้เข้ามาเที่ยวชมได้ฟรี โดยจะเปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 8:00 น จนถึงเวลา 17:00 น
ผู้ที่สนใจสามารถโทรมาสอบถามได้ที่เบอร์ 0987186063 และ 0881814906

กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

Related posts